Thursday, 12 September 2024

วัดร้องแง อ.ปัว

วัดร้องแง เป็นวัดโบราณ ตั้งอยู่ที่บ้านร้องแง หมู่ที่ 7 ตำบลวรนคร อำเภอปัว ประวัติชุมชนระบุว่า บรรพบุรุษชาวลื้ออพยพหนีภัยสงครามมาจากแคว้นสิบสองปันนา จนมาพบพื้นที่บริเวณลำน้ำฮ่องแง (“ร้อง” เพี้ยนมาจาก “ฮ่อง” คือ ร่อง(น้ำ) แปลว่า ลำคลอง ส่วน “แง” เป็นชื่อต้นไม้ “บะแง” มีผลเท่าส้มโอ ผิวเหมือนมะนาว มีจุกเหมือนมะกรูด “บ้านร้องแง” ก็คือ บ้านฮ่องแง คือบ้านที่ตั้งอยู่ที่ลำคลองที่มีต้นบะแงขึ้น) เห็นว่าอุดมสมบูรณ์ดีจึงลงหลักปักฐาน สร้างหมู่บ้านและวัดร้องแงในเวลาต่อมา โดยเมื่อสร้างวัดจึงได้ใช้ชื่อหมู่บ้านเป็นชื่อวัดไปด้วย

วัดร้องแง

ขอบคุณภาพจาก: TAT Nan

รูปแบบสถาปัตยกรรมวิหารวัดร้องแงเป็นแบบพื้นถิ่น หลังคาโบสถ์ซ้อนกัน 3 ชั้น 2 ตับ มุงแป็นเกล็ด ลักษณะเด่นคือการประดับตกแต่งด้วยไม้แกะสลักเป็นลวดลายพรรณพฤกษาที่หน้าจั่ว และทวยรับหลังคาเป็นทวยหูช้างสลักรูปเทวดา ยักษ์ และมนุษย์ หน้าบัน หรือ หน้าแหนบ ประดับด้วยไม้ฉลุลายก้านขด แกะสลักรูปเทพพนม แผงไม้ใต้หน้าจั่ว ที่เรียกว่า โก่งคิ้ว ประดับลายก้านขดและช้าง ส่วนหน้าจั่วปีกนกตกแต่งด้วยลายก้านขดแบบเดียวกัน

วัดร้องแง

ขอบคุณภาพจาก: TAT Nan

ภายในวิหารมีพระประธานปางมารวิชัย และจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติและเนมีราชชาดก มีศาสนวัตถุที่ทรงคุณค่า อาทิเช่น ธรรมาสน์โบราณ เป็นธรรมาสน์ไม่มีหลังคามีลวดลายปูนปั้นงดงามที่ฐานธรรมาสน์ นอกจากนี้ยังมีสัตตภัณฑ์ที่มีลวดลายงดงาม เป็นลักษณะเฉพาะของเมืองน่าน เครื่องสูงที่ประกอบพระประธานด้านละ 8 ชิ้น

เมืองปัวเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยศิลปะไทลื้อเนื่องด้วยในสมัยก่อนน่านตกอยู่ในอำนาจของพม่า ดังนั้นวัดที่เมืองปัวส่วนใหญ่จึงได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมแบบไทลื้อในการสร้างวัด

วัดร้องแง

ขอบคุณภาพจาก: TAT Nan

วัดร้องแง

วัดร้องแงอยู่ไม่ไกลจาก อ.ปัว และอยู่ระหว่างทางที่จะไป “ดอยภูคา” หรือ “บ่อเกลือ” ดังนั้นหากใครพอมีเวลาก็อยากให้แวะชมความงดงามของวัดที่มีสถาปัตยกรรมแบบไทลื้อโบราณนี้ ไหว้พระขอพรเพื่อให้เดินทางไปกลับอย่างปลอดภัย